อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานบริหาร บริษัท อะแดป ครีเอชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เปิดแนวคิดสร้างแพลทฟอร์ม 77 จังหวัด
อ่านเพิ่มเติมได้ใน เดลินิวส์
ชิมคลิปได้ที่ Dailynews Online
แนวคิดปฏิวัตินักข่าวภูธรเกิดขึ้นได้อย่างไร
เกิดจากความตั้งใจของตัวเราเองที่ต้องการทำแพลตฟอร์มเพื่อดึง “นักข่าวต่างจังหวัด” จากโลกเก่ามาสู่โลกใหม่ มันยิ่งกว่าการเปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นดิจิตอลอีก เป็นอะไรที่ท้าทายมาก แต่เรามั่นใจเพราะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว คือการสร้างแพลตฟอร์มคอมมูนิตี้ 77 จังหวัด เป็นชานชาลาข่าวสารให้นักข่าวมีที่ยืน เลิกพึ่งพาค่าข่าวจากสื่อส่วนกลาง เนื่องจากในช่วง 5 ปีย้อนไป ค่าข่าวมีแต่ลดลงไม่มีเพิ่มขึ้น เพราะทุกสำนักข่าวประหยัดค่าใช้จ่าย และเชื่อว่าอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะไม่มีค่าข่าวแล้ว
ฉะนั้น “นักข่าวต่างจังหวัด” ทุกคนต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงความคิด เชื่อว่าสามารถทำได้ เพราะเราจะพยามเปลี่ยนความคิดเขาก่อนว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่ และต้องยอมรับความจริงก่อนว่าสิ่งที่ทำอยู่มันเหมือน “บุรุษไปรษณีย์และไม่มีบ้านของตัวเอง”
ยกตัวอย่างเช่น นักข่าวมีเพจของตัวเอง ยอดติดตามแค่ 10,000 น้อยกว่าของคนที่ไม่ได้เป็นนักข่าวที่มียอดคนติดตามเป็น 100,000 สาเหตุเพราะว่า… “คุณไม่ได้ศึกษาอย่างแท้จริงว่าผู้บริโภคต้องการเนื้อหาแบบไหน” เราย้ำอยู่เสมอว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่ทำมา 20-30 ปี ส่วนใหญ่เป็น “ข่าวเหตุการณ์” ซึ่งมีมูลค่าต่ำและอายุสั้น คนจะไม่เปิดดูซ้ำ พอรู้แล้วก็ไปอ่านอย่างอื่น นอกจากมีเรื่องต่อเนื่องจึงจะกลับมาอ่าน
ฉะนั้นถ้ายังทำแบบนี้อีกหน่อยบอกได้เลยว่าทุกสำนักข่าวส่วนกลางจะไม่จ่ายเงินค่าข่าวแล้ว เพราะสามารถหาข่าวเหตุการณ์จากที่ไหนก็ได้ อย่างเช่นในเฟซบุ๊กที่มีการแชร์กันมากมาย ฉะนั้น “นักข่าว” ทุกคนต้องสร้างตัวตนให้มีที่ยืนในสังคมที่มีการสื่อสารกันบนโลกดิจิตอล จึงเกิดแนวคิดว่าเราต้องไม่กลัวเทคโนโลยี แต่ต้องชนะมันให้ได้ด้วยการทำเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ขึ้นมา
เว็บไซต์ “77 ข่าวเด็ด” เป็นของใคร แล้วทำงานกันอย่างไร
เป็นของนักข่าวทุกคน เพราะเราเขียนโปรแกรมมาให้นักข่าวสามารถอัพข่าวเองจากที่ไหน เวลาไหนใดก็ได้ ผ่านเครื่องมืออะไรก็ได้ เช่น โน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งมือถือ ฉะนั้นนักข่าวสามารถเลือกข่าวเอง ต่างจากทั่วไปที่นักข่าวต้องส่งข่าวมาที่ส่วนกลาง ให้ส่วนกลางเลือกลงข่าวถึงจะได้เงิน ถ้าไม่ลงก็ไม่ได้ค่าข่าว จึงต้องส่งไปหลายสำนัก ทำให้คนอ่านสงสัยว่าทำไมข่าวหลายสำนักถึงเหมือนกัน หรือบางครั้งส่งข่าวแนวประชาสัมพันธ์จังหวัดไป สำนักข่าวส่วนกลางไม่สนใจหรือมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ ทำให้ไม่ได้ลง กลายเป็นว่านักข่าวคนนั้นไม่มีตัวตน ไม่มีเครดิต
นอกจากนี้ที่ผ่านมานักข่าวไม่เคยสนใจเลยว่าข่าวของตัวเองมีคนอ่านเท่าไหร่ ซึ่งออนไลน์มีตัววัดที่แท้จริง คือ “กูเกิล แอนะลิติกส์” (Google Analytics) จึงทำให้เราทราบว่าข่าวแบบไหนที่คนต้องการ จึงบอกได้เลยว่าอย่าดูถูกคนอ่านว่าต้องการแต่ข่าวดราม่า เพราะจริงๆ แล้วข่าวที่มีเนื้อหาสาระ ทำคำค้นหาให้มันดีให้คนค้นเจอ รับรองมีคนเข้ามาอ่านอยู่แล้ว บางคนเข้ามาอ่านเรื่อยๆ เป็น “ทฤษฎีลองเทล” (Long Tail)
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนอยากรู้เรื่องช้างป่า ก็จะค้นหาคำว่า “ช้างป่า” จึงต้องออกแบบเว็บไซต์ของเราว่าทำอย่างไรให้คนค้นเจอมากขึ้น ต้องเรียนรู้ตั้งแต่การเขียนข่าวว่าต้องมีคำว่า “ช้างป่า มีลิงก์ มีโลเคชั่น” ทำให้เวลาคนค้นกูเกิลจะเจอได้ง่าย ถือเป็นการเอาชนะเทคโนโลยี และเชื่อว่าข่าวที่เราทำมีคนอ่าน อีกอย่างต้องเปลี่ยนแนวคิดเลยว่า… “คุณไม่ใช่นักข่าว” แต่เป็น “มีเดีย คอนดักเตอร์” หมายถึงคนที่ทำหน้าที่เรียบเรียงรวบรวมและประสานผู้ผลิตเนื้อหาในจังหวัดนั้นๆ ขึ้นมาอยู่แพลตฟอร์มเดียวกันและบริหารจัดการให้ได้
ที่ผ่านมานักข่าวมีคอนเนคชั่น มีชื่อเสียงในจังหวัด แต่ไม่เคยใช้ประโยชน์จากพวกนี้ในการหาข้อมูลเลย ฉะนั้นนักข่าวต้องเปลี่ยนบทบาทจากการรายงานข่าวที่เหมือนบุรุษไปรษณีย์ หรือแมสเซนเจอร์มาเป็นคนที่รวบรวมเนื้อหาที่มีอยู่ทั่วไปเอามาจัดการใหม่ให้น่าอ่าน มีภาพสวยๆ ตัดต่อคลิปวิดีโอเป็น ใส่เพลงลงไป เติม Keyword และแผนที่เข้าไป ถามว่าถ้าส่งดิบๆ เข้าไปในสำนักข่าวส่วนกลาง และคิดว่าสำนักข่าวจะทำให้ คงต้องคิดใหม่ว่าถ้าเราทำเองจะทราบประเด็นมากกว่า
ยกตัวอย่าง นักข่าวจันทบุรี ทำเรื่องการท่องเที่ยวดูนกเหยี่ยวแดง ซึ่งทำตามที่เราแนะนำไป พอค้นคำว่า “นกเหยี่ยวแดง” ที่เพิ่งทำได้แค่ 2 วันเอง ปรากฎว่าข่าวถูกค้นหาในกูเกิลหน้าแรก และค่อยๆ เลื่อนขึ้นข้างบน เนื่องจากมีคนค้นหาเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังต้องทำไฮเปอร์ลิงค์ด้วย เช่น ความรู้เกี่ยวกับนกเหยี่ยวแดง ยิ่งทำให้คนค้นหาข้อมูลอ่านทีเดียวได้หมด ที่สำคัญทำให้เขาอยู่บนเว็บไซต์เรานานขึ้น แตกต่างจากเว็บสำนักข่าว จึงต้องฝึกนักข่าวทำเรื่องนี้ให้เป็น ซึ่งจริงๆ มันคือการเอาข้อมูลเก่ามาทำใหม่นั่นเอง
เปิดตัวเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด” มานานหรือยัง ผลตอบรับเป็นอย่างไร
เราทำมา 3-4 เดือน และเพิ่งเปิดตัวตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.60 ที่ผ่านมา เพียงแค่เปิดได้ประมาณ 10 กว่าวันมีคนเข้าเฉลี่ยแล้วประมาณ 15,000 คน ถือว่าไม่น้อยเลย และนักข่าวก็รู้ข้อมูลหมดเลยว่าแต่ละข่าวของเขามีคนอ่านเท่าไหร่ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของการทำข่าวของ “นักข่าวท้องถิ่น”
ปัจจุบันมีนักข่าวมาทำข่าวในเว็บไซต์ “77ข่าวเด็ด” แล้วประมาณ 40 จังวัด และเป้าหมายจะทำให้ครบ ไล่อบรมไปเรื่อยๆ ถ้าบางจังหวัดทำไม่ได้จะประกาศหาผู้ร่วมพัฒนาเนื้อหาที่ไม่ใช่นักข่าว ส่วนผลประโยชน์ก็แบ่งกัน เพราะถ้าเราพัฒนาเนื้อหาให้ดีเป็นการขายจังหวัดตัวเองว่ามีดีอะไร ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน บุคคลสำคัญต่างๆ ของจังหวัด เชื่อว่าธุรกิจจะเข้ามาหาเอง
นักข่าวต่างจังหวัดที่มาร่วมทำกับเว็บไซต์ด้วยไม่ได้ค่าข่าวแล้วเขาจะได้อะไร
เราบอกเลยว่า…ทำกับเราไม่มีเงินค่าข่าวให้นะ ตอนแรกนักข่าวก็งงว่าไม่ได้เงินแล้วจะทำไปเพื่ออะไร แต่เราจะบอกว่า “คุณมีตัวตนนะ” วิธีคิดของคนสมัยใหม่ที่ไม่ใช่นักข่าวต้องเขียนก่อนเพื่อให้คนมาดูเยอะๆ แล้วถึงจะได้เงิน ไม่ใช่บอกว่าขอเงินก่อนแล้วจะเขียนให้ ซึ่งมันตรงกันข้ามกัน อย่างพวกบล็อกเกอร์เขาเขียนก่อน และเขียนเยอะมากจนคนมาดู พอคนมาดูเยอะรายได้จะตามมา ฉะนั้นนักข่าวต้องเปลี่ยนความคิด ไม่ใช่การลงทุนเงินแต่เป็นการลงแรง
แนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เป็นแนวคิดที่มีคนทำมาแล้วในต่างประเทศ แต่เป็นเรื่องบังเอิญมากที่เราไม่ทราบมาก่อนว่ามีการทำมาแล้ว คือในประเทศอเมริกาทำแนวคิดเหมือนเราประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มีอาจารย์ท่านหนึ่งมาถามเราว่า…เคยอ่านแนวคิดของอเมริกาหรือเปล่า? คือเว็บไซต์ PATCH.com มีข่าวชุมชนทุกมณรัฐ มีข่าวหมาหาย แมวตาย และมีคนแชร์เยอะมากจริงๆ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นข่าวในชุมชน ซึ่งเว็บนี้เขาทำมา 10 ปีแล้ว โดยใช้นักข่าวท้องถิ่นในการส่งข่าว มีรายได้จากท้องถิ่น และโฆษณาส่วนกลางก็อยู่ได้
เชื่อว่าแนวคิด “เว็บไซต์ 77ข่าวเด็ด” ถ้าทำสำเร็จเราอยู่ได้สบายๆ โดยที่ไม่ต้องพึ่งค่าข่าวส่วนกลาง หรือเพิ่งโซเชียลอย่างเฟซบุ๊ก ที่เปรียบเทียบว่าเป็นบ้านเช่า เหมือนเราไปเช่าบ้านคนอื่นอยู่ คนทำเฟซบุ๊กจะปิดทางเข้าเมื่อไหร่ก็ได้ อีกอย่างเฟซบุ๊กทุกอันเหมือนกันหมด ไม่มีจุดเด่น เหมือนตึกแถวเรียงกันร้อยหลัง แยกไม่ออกว่าบ้านใคร แต่เว็บไซต์เราเป็นเจ้าของบ้านเอง ดีไซน์เองหมด
จึงถือว่า “เว็บไซต์เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่บนดิจิตอล” เราเป็นกรรมสิทธิ์ได้ แต่เฟซบุ๊กเราไม่มีกรรมสิทธิ์ จะโดนปิดเมื่อไหร่ก็ได้!! ฉะนั้นขอแค่เราปรับและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เร็ว…จะรอดวิกฤติอาชีพสื่อมวลชนแน่นอน!!
……………………………………….
คอลัมน์ : Talk Online
โดย “ชญานิษฐ คงเดชศักดา”